โรคเชื้อราที่เล็บ

โรคเชื้อราที่เล็บ

ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ
ผศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช
คลินิกโรคเชื้อราที่เล็บ สาขาวิชาโรคเชื้อราผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคเชื้อราที่เล็บคืออะไร
โรคเชื้อราที่เล็บ (onychomycosis) หมายถึง การติดเชื้อราซึ่งรวมถึงราที่เป็นสายรา หรือ เชื้อราในรูปของยีสต์ (ราที่มีลักษณะเป็นเซลล์กลม) ที่เล็บ โดยปกติแล้วเชื้อราที่กล่าวมานี้มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือการเพาะเชื้อรา เป็นต้น

ในประเทศไทยชนิดของเชื้อราที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อกลากแท้ (dermatophytes) เชื้อกลากเทียม (non-dermatophytes) และเกิดจากยีสต์ (yeasts) โดยเฉพาะเชื้อแคนดิดา (Candida)


ลักษณะและอาการของโรคเชื้อราที่เล็บ
โรคเชื้อราที่เล็บโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการอะไร ผู้ป่วยบางรายอาจมีรอบเล็บบวมแดง โดยเฉพาะนิ้วมือที่ต้องโดนน้ำบ่อย ๆ ซึ่งเกิดจากเชื้อยีสต์ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาในการรักษาโรคมักจะเป็นโรคเชื้อราที่เล็บอันเนื่องมา จากเชื้อกลากแท้ หรือ เชื้อกลากเทียมซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร บางรายปล่อยไว้นานหลายปี จนเล็บมีการเปลี่ยนแปลงมากจึงมาพบแพทย์ หรือมาพบแพทย์ด้วยเหตุอื่น ๆ แล้วได้รับการส่งตัวมาพบแพทย์ผิวหนังเนื่องจากตรวจพบเล็บผิดปกติ

ความผิดปกติที่เล็บนั้น พบว่าเล็บเท้าพบได้บ่อยกว่าเล็บมือ และเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยเฉพาะพบในผู้สูงอายุที่อาจมีโรคร่วมอื่น ๆ เกิดอยู่ด้วยกันได้

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีการติดเชื้อราที่ผิวหนังร่วมด้วย เช่น เชื้อราที่เท้า หรือ เชื้อราที่ผิวหนังส่วนอื่นที่กระจายออกไปกว้าง หรือผู้ป่วยบางส่วนอาจมีผลแทรกซ้อนตามมาหลังการติดเชื้อรา เช่น เล็บขบ เล็บขบอักเสบติดเชื้อ หรือเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

ลักษณะที่สังเกตของโรคเชื้อราที่เล็บนั้นมีได้หลายประการ ที่สำคัญคือ จำนวนของเล็บที่มีการเปลี่ยนแปลงจะพบไม่มาก มีเล็บที่เป็นโรคเพียงประมาณ 1 – 3 เล็บ โดยเล็บที่ติดเชื้ออาจพบลักษณะหนาตัวขึ้น มีขุยหนาใต้เล็บ มีสีเล็บที่เปลี่ยน แปลงไป หรือเล็บที่แยกตัวออกมาจากฐานเล็บ อาจเห็นเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ

โรคที่มักสร้างความสับสนกับทั้งผู้ป่วย แพทย์ หรือ บุคคลทั่วไปคือโรคสะเก็ดเงินที่เล็บซึ่งเล็บที่เห็นจะมีลักษณะการเปลี่ยน แปลงที่คล้ายกับเชื้อราที่เล็บ แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อราแต่อย่างใด


จะทราบได้อย่างไรเป็นเชื้อราที่เล็บ

การที่จะวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บนั้น จะต้องอาศัยลักษณะของเล็บที่มีความผิดปกติดังที่ได้กล่าวแล้ว ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดขุยจากเล็บไปตรวจหาเชื้อรา การเพาะเชื้อรา และจำแนกเชื้อราก่อโรคที่เล็บ ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะเชื้อกลากเทียม แพทย์อาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติ การซ้ำ โดยเฉพาะการเพาะเชื้อรามากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

การขูดเล็บจะกระทำโดยการตัดเล็บส่วนนอกทิ้ง และนำขุยที่ได้จากส่วนเล็บซึ่งเป็นโรคนำมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดหรือเลือดออกแต่ประการใด หลังจากนั้นจะนำขุยที่ได้จากเล็บไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยใช้สารละลายด่าง potassium hydroxide หากเป็นโรคเชื้อราที่เล็บจะพบลักษณะสายรา

การตรวจทางห้องปฏิบัติการนี้มีความจำเป็นอย่างมากในการวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บ เพราะเล็บที่มีความผิดปกติอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อราที่เล็บเสมอไปผู้ป่วยหลายรายที่เล็บผิดปกติแต่ไม่ใช่โรคเชื้อราที่เล็บ ทำให้ผู้ป่วยอาจได้ยารับประทานโดยไม่มีความจำเป็น และอาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้


การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ
โรคเชื้อราที่เล็บมีความผิดปกติอาจสร้างปัญหาให้ผู้ป่วย แต่ก็ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบรักษา การรักษาเชื้อราที่เล็บต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหรืออาจเป็นปี จัดเป็นโรคที่รักษาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาได้

ก่อนเริ่มการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ แพทย์จะตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค นอกจากนั้นแพทย์อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้การรักษาโรคเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะเชื้อกลากเทียม ซึ่งเชื้อนี้มักจะดื้อต่อการรักษาด้วยยารับประทานรักษาเชื้อราเป็นต้น


โรคเชื้อราที่เล็บแบบไหนที่รักษายาก
โรคเชื้อราที่เล็บแม้เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถรักษาได้ แต่บางครั้งการรักษานั้นอาจไม่ง่าย หากมีลักษณะบางอย่างเกิดร่วมอยู่ด้วย เช่น เล็บติดเชื้อราลามกว้างมากกว่าร้อยละ 50 ของเนื้อเล็บ ติดเชื้อบริเวณด้านข้างของเนื้อเล็บ เล็บที่มีความหนาตัวมากกว่า 2 มิลลิเมตร พบแถบสีเหลือง สีส้มหรือสีขาวเป็นเส้นในเนื้อเล็บ ซึ่งบ่งถึงการมีก้อนเชื้อราอัดแน่นอยู่ใต้เล็บ เนื้อเล็บถูกทำลายทั้งหมด ติดเชื้อกลุ่มที่ไม่ใช่กลากแท้โดยเฉพาะเมื่อเป็นเชื้อกลากเทียมบางชนิด ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งจากโรคประจำตัวหรือยาที่ได้รับ ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย ฯลฯ
วิธีการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ’

การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บมีหลายวิธี เช่น

1. การใช้ยารับประทาน มียารักษาเชื้อราโดยการรับประทานหลายชนิด โดยทั่วไปแล้วมีประสิทธิภาพการรักษาสูง สามารถ รักษาความผิดปกติของเล็บที่เป็นโรคได้ทุก ๆ เล็บ รวมถึงเท้า และฝ่าเท้าที่เป็นโรคได้ แต่การใช้ยารับประทานจะได้ผลดีกับโรคโดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อกลากแท้หรือเชื้อยีสต์บางชนิด การใช้ยารับประทานบางชนิดต้องระวังผลข้างเคียงของยาเช่น การแพ้ยา ผลต่อตับและไต ผลของยาอื่นที่กระทบกับการรักษาเช่น การรับประทานยาลดไขมันบางชนิดควบคู่ด้วย หรือการได้ยาลดกรด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมของยา เป็นต้น

2. การใช้ยาทาเฉพาะที่ เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย ยาทามีหลายรูปแบบ เช่น ชนิดที่เป็นสารละลาย หรือชนิดที่เป็นยาทาเคลือบเล็บ ซึ่งยาทาบางชนิดสามารถทาที่เล็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำให้มีความสะดวกในการใช้ยา การเลือกรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่นั้นจะใช้ได้ดีโดยเฉพาะโรคเชื้อราที่เล็บที่มีจำนวนเล็บไม่มากนัก และไม่มีลักษณะที่ทำให้เกิดการรักษาได้ยาก เช่น มีรอยโรคเชื้อราที่ลามไปถึงโคนเล็บ การรักษาโดยการใช้ยาทาเฉพาะที่ที่เล็บ อาจต้องใช้ยาทาอื่น ๆ ร่วมด้วย หากผู้ป่วยมีรอยโรคร่วมที่เท้า เช่น ที่ฝ่าเท้า ง่ามนิ้วเท้า เพราะยาจะออกฤทธิ์ได้เฉพาะที่เล็บที่ทายาเท่านั้น

3. การใช้วิธีการอื่น ๆ ในการรักษา การใช้แสงเลเซอร์รักษาเชื้อราที่เล็บ หรือเครื่องมือทางกายภาพบางชนิดในการรักษา หรือร่วมการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ หรือการใช้ครีมหรือสารเคมีที่ช่วยเสริมการรักษาโรค หลายวิธีแม้ยังเป็นวิธีการใหม่ แต่ก็มีผลการศึกษายืนยันความเป็นไปได้ ให้การรักษาที่ให้ผลดีและปลอดภัย


ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว

โรคเชื้อราที่เล็บเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อราแต่การติดต่อก็ไม่สามารถติดกันง่าย เชื้อราที่พบเกิดโรคนั้นส่วนหนึ่งติดต่อด้วยกันจากมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และเชื้อราหลาย ๆ ชนิดก็อยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือดิน ต้นไม้ ฯลฯ

การรักษาต้องใช้ระยะเวลานาน อาจใช้เวลาหลายเดือน หรืออาจเป็นปี และยังมีโอกาสเกิดโรคซ้ำได้ แม้ว่าเล็บที่ดูเหมือนเกือบจะปกติหลังการรักษาแล้ว ยังอาจมีเชื้อราจำนวนน้อยอยู่ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดโรคซ้ำดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้งโดย เฉพาะก่อนหยุดการรักษาก็นับว่ามีความสำคัญ

การดูแลสุขภาพเท้า การตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธีมีความ สำคัญ ดูแลเท้าให้แห้งไม่ควรเดินเท้าเปล่าโดยเฉพาะในที่สาธารณะที่ใช้ของร่วมกัน ไม่ควรใช้วิธีตัดเซาะหรือเลาะเล็มส่วนด้านข้างของเล็บ หรือให้ช่างทำเล็บตัดเล็บอย่างไม่ถูกวิธี เพราะทำให้เกิดเล็บขบ ติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับการเลือกชนิดรองเท้าที่เหมาะสม ไม่ควรรัดแน่น อับชื้น หรือเปิดปลายเท้าและต้องมีความระมัดระวังเป็น อย่างมากในการดูแลสุขภาพเท้าโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานหรือใน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น การเคลื่อนไหว การมีความผิด ปกติของโครงสร้างเท้าร่วมด้วย การได้รับยาอื่น ๆ หลายชนิด ฯลฯ

การใช้ยารักษาเชื้อราชนิดรับประทาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาอื่น ๆ ที่ได้ร่วมกันโดยเฉพาะยากลุ่มลดไขมันหรือโรคประจำตัว อื่นที่มีร่วมอยู่



*บทความนี้มาจาก website คณะแพทยศาสต์ศิริราชพยาบาลโดยได้รับอนุญาตจากผู้นิพนธ์